วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สรุปแบบวิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคล ม.๕/๒

การประเมินคุณค่างานเขียน


การประเมินคุณค่างานเขียน
คุณค่าของงานประพันธ์
              งานประพันธ์ หมายถึง    งานที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยใช้ภาษาที่สละสลวยถ่ายทอดให้เป็นเรื่องราว มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง
              การรู้จักเลือกอ่านงานประพันธ์ที่มีคุณค่า และรู้จักอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์จะช่วยเพิ่มพูนประโยชน์  ทั้งยังจะได้ความรู้ความคิดที่ได้จากเรื่องที่อ่าน นำมาพัฒนาตนเองให้มีบุคลิกภาพที่ดีได้
               องค์ประกอบของงานประพันธ์    ประกอบ ด้วย เนื้อหา + รูปแบบ งานประพันธ์ที่มีเนื้อหาและรูปแบบเหมาะสมกันจะจัดเป็นวรรณคดี ถ้าเรื่องใดไม่ถึงขั้นเป็นวรรณคดีก็จะเรียกว่า วรรณกรรรม
              เนื้อหา หมายถึง เรื่องราวที่ผู้ประพันธ์แต่งขึ้นจากจินตนาการ จากประสบการณ์ จากความรู้สึก
              รูปแบบ หมายถึง ลักษณะรวมของประเภทงานประพันธ์ที่ผู้แต่งใช้  อาจเป็นนิราศ เป็นโคลง เป็นลิลิต อาจเป็นร้อยแก้ว ซึ่งมีทั้งสารคดี และบันเทิงคดี เช่น เป็นเรื่องสั้น

การพิจารณาคุณค่าของงานประพันธ์
              แยกพิจารณาดังต่อไปนี้
              ๑. คุณค่าด้านวรรณศิลป์
              ประเภทร้อยกรอง งานเขียนประเภทนี้จะได้ชื่อว่าเป็นงานประพันธ์ที่ดีได้    ผู้ ประพันธ์ควรเลือกใช้รูปแบบที่สอดคล้องกับเนื้อหา มีกลวิธีการแต่งที่น่าสนใจ ใช้ถ้อยคำไพเราะสละสลวย ให้อารมณ์สะเทือนใจ และให้สารที่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นงานประพันธ์ที่มีความงามทางด้านภาษา
                   ๑.๑ ประเภทร้อยแก้ว ที่เป็นเรื่องสั้นหรือนวนิยาย    งานเขียนประเภทนี้จะได้รับการยกย่องว่าแต่งดีมาก จะมีลักษณะดังนี้
                        ๑.๑.๑ แก่นเรื่องสัมพันธ์กับโครงเรื่องและตัวละคร
                        ๑.๑.๒ มีกลวิธีการประพันธ์ที่แปลกใหม่น่าสนใจ
                        ๑.๑.๓ ในเรื่องมีจุดขัดแย้งที่ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ
                        ๑.๑.๔ ภาษาที่ใช้บรรยายและพรรณนาสละสลวยให้นึกเห็นภาพ
                        ๑.๑.๕ คำพูดเหมาะสมกับบุคลิกภาพของตัวละคร
                        ๑.๑.๖ ให้สารที่มีความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับชีวิตและสังคม
             ๒. คุณค่าด้านสังคม
             งานประพันธ์ที่ดีจะสะท้อนให้เห็นความเป็นอยู่  ค่านิยม และจริยธรรมของคนในสังคมที่งานประพันธ์ได้จำลองภาพไว้
มีเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมหรือจริยธรรมของสังคม และมีส่วนช่วยจรรโลงหรือพัฒนาสังคมด้วย

ความงามในภาษา
             ถ้อยคำภาษาทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง    จะมีคุณค่าแห่งความงดงามอยู่ในตัว หากผู้ถ่ายทอดสามารถสร้างสรรค์ได้อย่างประณีต  ตามลักษณะของรูปแบบและฉันทลักษณ์ ซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้
                ความงามของคำประพันธ์ในวรรณคดีสันสกฤต สรุปลักษณะดังนี้
                   ๑. ต้องใช้ภาษาถูกต้องตามกฎของไวยากรณ์
                   ๒. มีการตกแต่งภาษาดี    เมื่ออ่านหรือฟังแล้วมองเห็นภาพตามไปด้วย เรียกว่ามี อลังกา
                   ๓. มีการใช้ถ้อยคำที่ดี    คือมีเสียงไพเราะ และมีความหมายบริบูรณ์ เรียกว่ามีความโศภา

องค์ประกอบของความงามในภาษาไทยดูได้ที่
                   ๑. ถ้อยคำ เป็นสัญลักษณ์ของความคิด    การใช้ถ้อยคำจะต้องมีค่าในการสื่อสาร จะต้องใช้ถ้อยคำให้ตรงกับความรู้สึก
นึกคิดของตน    และมีความหมายแก่ผู้อ่านให้ใกล้ภาพในใจของผู้ประพันธ์มากที่สุด
                   ๒. เสียง เสียงในภาษาทำให้เกิดความงามได้    ลักษณะ คือ
                        ๒.๑ เสียงวรรณยุกต์    กวีนิยมเล่นเสียงวรรณยุกต์เพื่อให้เกิดความไพเราะ เช่น จะจับจองจ่องจ้องสิ่งใดนั้น
ดูสำคัญคั่นคั้นอย่างันฉงน
                        ๒.๒ เสียงสัมผัส    หมายถึง เสียงที่คล้องจองกัน มี ๒  อย่างคือ สัมผัสพยัญชนะกับสัมผัสสระ เช่น
                              ความรักเหมือนโรคา    บันดาลตาให้มืดมน
                              ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดใด
                        ๒.๓ เสียงหนักเบา    ผู้อ่านต้องรู้จักทอดเสียง เน้นเสียงหนักเบาที่คำบางคำเพื่อทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงรสไพเราะของเนื้อความ
                   ๓. ความหมาย คือความคิดสำคัญที่มีอยู่ในถ้อยคำ  การที่เราจะมองเห็นความงามในภาษา เราจะต้องเข้าใจความหมายในถ้อยคำหรือข้อความเสียก่อน
                   ๔. การเรียบเรียงถ้อยคำ    การเรียบเรียงถ้อยคำต้องให้ถูกต้องตามระเบียบของภาษา จึงจะสื่อความหมายได้แจ่มแจ้ง ก่อให้เกิดความงามในภาษาควรปฏิบัติดังนี้
                        ๔.๑  เรียงคำขยายไว้หลังคำที่ถูกขยาย
                        ๔.๒  เว้นวรรคตอนให้ถูกต้องจะช่วยสื่อความหมายได้ชัดเจน
                    หากเป็นการเรียบเรียงถ้อยคำแบบร้อยกรอง    ควรจะมีลักษณะดังนี้
                        ก. ใช้ถ้อยคำทำให้เกิดภาพและเกิดความรู้สึกตรงตามจินตนาการของกวี
                        ข. ใช้คำที่มีเสียงสูงต่ำดุจดนตรี
                        ค. เสนอสารที่ให้ข้อคิดที่ลึกซึ้ง
                        ง. ใช้ถ้อยคำบรรยายหรือพรรณนา    ที่ทำให้เกิดความสะเทือนอารมณ์
                   ๕. การใช้กวีโวหาร และสำนวนโวหาร
                        กวีโวหาร มักใช้กับวรรณคดีร้อยกรอง
                        สำนวนโวหาร ใช้กับวรรณคดีร้อยแก้ว
                        กวีจะใช้กวีโวหาร หรือสำนวนโวหาร เพื่อสร้าง ภาพในจิตหรือ จินตภาพ” (ภาพที่ปรากฏในจินตนาการ) ซึ่งอาจจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมาหรือเป็นโวหารภาพพจน์ก็ได้
                        โวหาร ภาพพจน์ หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงอย่างไม่ตรงไปตรงมาแต่ต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจและรู้สึก ประทับใจยิ่งกว่าการใช้คำบอกเล่าธรรมดา
                  โวหารภาพพจน์ มีหลายวิธี    คือ
                             ๕.๑ อุปมาอุปไมย    เป็นการเปรียบสิ่งหนึ่งเหมือนสิ่งหนึ่ง เช่น ขาวเหมือนหยวก
                        ๕.๒ อุปลักษณ์ เป็นการเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งหนึ่ง    เช่น โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ
                             ๕.๓ บุคลาธิษฐาน    สมมุติสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นบุคคล เช่น ทะเลไม่เคยหลับ
                             ๕.๔ สัญลักษณ์ ใช้คำแทนไม่กล่าวถึงสิ่งนั้นโดยตรง เช่น
                             “อย่าเอื้อมเด็ดดอกฟ้า   มาถนอม”  ดอกฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งสูงค่า เกินที่จะได้เป็นเจ้าของ
                         ๕.๕ การกล่าวน้อย แต่กินความมาก หมายถึง กล่าวคำที่มีเจตนาจะสื่อความหมายให้กว้าง เช่น  
“อันของสูงแม้นปองต้องจิต    ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ”
                             ๕.๖ ปฏิพากย์ (ขัดแย้ง) คือ การใช้คำ หรือ ความคิดที่ขัดแย้งกัน แต่นำมาใช้รวมกัน เป็นการกล่าวโดยขัดแย้งกับความจริง แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วจะเห็นว่าเป็นความจริง เช่น เด็กคือบิดาของผู้ใหญ่,  คนขลาดตายไปแล้วหลายครั้งก่อนจะตาย
                             ๕.๗ อธิพจน์ (กล่าวเกินจริง)  มีจุดประสงค์ที่จะเน้นให้เห็นความสำคัญชี้ให้เห็นชัดเจน ใช้เพื่อแสดงอารมณ์อย่างรุนแรง  เช่น คิดถึงใจจะขาด คอแห้งเป็นผง ปวดหัวจนจะระเบิด ฯลฯ
การประเมินค่าวรรณกรรม
                             งานประพันธ์ที่มีคุณค่าต่อตนเอง
                             งานประพันธ์ที่มีคุณค่าต่อตนเอง  หมาย ความว่า งานประพันธ์นั้น ๆ อ่านแล้วได้รับประโยชน์อะไรบ้าง ได้มากหรือได้น้อยหากได้ประโยชน์มากต้องได้ทั้งความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริง จากสาร ทั้งทางด้านวรรณศิลป์และสังคม    นอกจากนั้นยังได้ข้อคิดคติเตือนใจ เพื่อจะได้นำไปใช้ปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตต่อไป

งานประพันธ์ที่มีคุณค่าต่อสังคม
             งานประพันธ์ที่มีคุณค่าต่อสังคม    หมาย ความว่า ความรู้หรือความคิดที่ส่งออกมา หากคนในสังคมได้อ่านได้รับรู้ก็มีผลให้นำไปช่วยกันพัฒนาสังคม แก้ปัญหาสังคม หรือเกิดความละอายที่จะทำผิด ทำชั่วจึงละหรืองดเว้น ก็จะทำให้สังคมมีความเจริญมีความสุขสงบขึ้น
              ใน การอ่านหรือศึกษางานประพันธ์ที่เป็นสารคดีหรือบันเทิงคดี ตลอดทั้งงานประพันธ์อื่น ๆ ผู้เรียนมีแนวปฏิบัติในการจดบันทึกย่อสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
              ๑. ความหมายของชื่อเรื่อง
              ๒. เนื้อเรื่องย่อ
              ๓. แนวคิดที่สำคัญของเรื่อง
              ๔. ความรู้ที่เราได้รับ
              ๕. ข้อคิด คติเตือนใจ
              ๖. เรื่องนี้มีประโยชน์ต่อสังคมอย่างไรบ้าง

เกณฑ์การประเมินค่าวรรณกรรม
             งานเขียนที่จะมีลักษณะดีเป็นเลิศได้นั้น จะมีความเด่น ๗  ประการ คือ
               . ดี คือไม่ผิดศีลธรรม    ไม่ชักนำให้ผู้อ่านเห็นผิดเป็นชอบ
               ๒. มีแง่งาม คืองามด้วยคำ    ด้วยเสียง ด้วยเรื่องราว ด้วยภาพพจน์ ด้วยการลำดับเรื่อง ด้วยการวาดลักษณะตัวละคร ฯลฯ
               ๓. มีความเที่ยงธรรม    วรรณกรรม ที่มีคุณค่าผู้เขียนจะต้องมีความซื่อสัตย์ เที่ยงตรง ไม่ใส่ร้ายป้ายสี หรือยกยอเมื่อรักเมื่อชอบไม่บิดเบือนชักพาเข้าสู่ผลประโยชน์ของตน
               ๔. มีความสำคัญ วรรณกรรมที่ดีต้องกล่าวถึงเรื่องราวที่มีความสำคัญน่าสนใจ ไม่ควรเสนอเรื่องหยุมหยิม ไม่มีน้ำหนัก ไม่น่าเชื่อถือ ควรเสนอสิ่งแปลกใหม่น่าทึ่งน่านำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้รับสารและต่อ สังคม
              ๕. เป็นสิ่งจำเป็น  เรื่องราวบางอย่าง บางคนอาจจะมองข้าม เห็นเป็นเรื่องไม่สำคัญ วรรณกรรมที่ดีจะชี้ให้หันมามองสิ่งจำเป็นที่คนส่วนมากมองข้าม
             ๖. มีประโยชน์ วรรณกรรมที่ดีจะต้องเสนอเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน เช่น ให้คติชีวิต ให้ข้อเท็จจริงที่เป็นความรู้ ให้ความคิดที่ลึกซึ้ง ให้ทัศนคติที่ใหม่กว้างขวางขึ้น ให้ความเพลิดเพลิน
             ๗. มีค่านิยมสูง คือจะช่วยยกระดับ อุดมการณ์ของบุคคล ของสังคม หรือของชาติได้ ให้เห็นว่าสิ่งใดดีที่สุด  หรือเลวที่สุดในชีวิต

การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
              การ อ่านงานเขียนโดยทั่วไปนั้น ใช่ว่าเราจะอ่านเพื่อให้ได้ความรู้ หรือบันเทิงเพียงอย่างเดียว เมื่อเราอ่าน ต้องรู้จักคิด พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ การอ่านอย่างมีวิจารณญาณต้องอาศัยการวิเคราะห์เป็นพื้นฐาน ผนวกกับการประเมินค่าเรื่องที่เราอ่านอีกขั้นหนึ่ง คือ สามารถวิจารณ์เรื่องนั้น แสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล วิเคราะห์ถ้อยคำ ประโยค วิเคราะห์ทรรศนะของผู้แต่งและเนื้อหาได้
              ๑. การวิเคราะห์ถ้อยคำ
                   ๑.๑ ความหมายโดยตรง หมายถึงคำที่มีในพจนานุกรม ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ปาก หมายถึง ช่องสำหรับกินอาหาร ขอบช่องของสิ่งต่าง ๆ เช่น ปากไห ปากทาง ฯลฯ
                   ๑.๒ ความหมายโดยนัย หมายถึงคำที่มีความหมายซ่อนเร้น ต้องตีความหมายตามสิ่งแวดล้อม สถานการณ์ของสังคม หรือสภาพแวดล้อมผู้พูด หรือถ้อยคำ เช่น กิน - โกง ทำทุจริต กินดินกินทราย แมงดา - ชายที่เกาะโสเภณีกิน , อกหัก- ผิดหวังอย่างไม่คาดคิด
                   ๑.๓ ความหมายตามบริบท หมายถึง คำที่มีความหมายขึ้นกับข้อความรอบข้าง เช่น
คำว่า ขัน ดังตาราง

ไก่ขันแต่เช้า
พูดจาน่าขัน
เขาหยิบขันมา ๑ ชุด
เธอขันน็อตให้แน่นหน่อยสิ
บางคำเช่นคำว่า ขอหอมหน่อย อาจแปลได้ว่า ขอต้นหอม หรือ ขอจูบแก้ม เป็นต้น

              ๒. การวิเคราะห์ประโยค
              การวิเคราะห์ประโยค คือ การพิจารณาการใช้และเรียบเรียงคำ ข้อความในประโยคว่าถูกต้องหรือไม่ เช่น

การพิจารณา
ตัวอย่าง
ควรแก้เป็น
๒.๑ เขียนประโยคไม่สมบูรณ์
เรือนร่างและความสมบูรณ์ของท่าน ท่านเป็นคนที่ผอม แต่ไม่ผอมเกินไป ทำให้มีค่านิยมในตัวท่านมาก
ท่านเป็นบุคคลที่มีรูปร่างสันทัด ไม่ผอมหรืออ้วนเกินไป ทำให้มีค่านิยมในตัวท่านมาก

มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี (ร้อยแก้ว)

มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี ( ร้อยแก้ว )

พระมหาสัตว์เจ้ายังมหาปฐพีอันใหญ่ให้หวั่นไหวด้วยพระราชทานปิยบุตร ทั้งสองแก่พราหมณ์ แล้วเกิดโกลาหลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดถึงพรหมโลก โกลาหลอันนั้นหมู่เทพเจ้าชาวป่าหิมพานต์ได้สดับเสียงพิลาปรำพันของสองพระ กุมารกุมารีที่พราหมณ์นำไป ก็มีความสงสารประหนึ่งว่าหฤทัยจะแตกทำลาย   จึงปรึกษากันว่าถ้าพระนางมัทรีเสด็จกลับมาสู่อาศรมในเวลากลางวัน เมื่อไม่ได้เห็นพระเจ้าลูกทั้งสองก็จะต้องรบกวนทูลถามซึ่งพระเวสสันดร ครั้นได้ทรงทราบว่าพระเวสสันดรได้พระราชทานให้ไปแก่พราหมณ์แล้ว พระนางเธอก็จะต้องวิ่งติดตามด้วยความสิเนหาอันแรงกล้าก็จะเสวยเวทนาอันใหญ่ หลวง จำเราทั้งปวงจะคิดหาอุบายกั้นกาง อย่าให้พระนางเธอเสด็จมาได้แต่ในเวลายังวัน
ครั้นปรึกษากันอย่างนี้แล้วจึงพร้อมกันมอบหน้าที่ให้เทพบุตรทั้งสามว่า ท่านทั้งสามจงจำแลงเพศเป็นราชสีห์องค์หนึ่ง เป็นเสือโคร่งองค์หนึ่ง เป็นเสือเหลืององค์หนึ่ง แล้วพากันไปขัดขวางกั้นกางหนทางที่พระนางเธอเสด็จมา ถึงพระนางเธอจะอ้อนวอนสักเพียงไรอย่าอนุญาตให้มาได้ จนกว่าพระอาทิตย์จะอัสดงคต จึงค่อยพากันละลดเลิกถอยหนีไปให้พระนางเธอเสด็จมาด้วยรัศมีจันทร์ แต่ว่าท่านทั้งสามจงพากันป้องกันอย่าให้พระนางเธอเป็นอันตรายด้วยสัตว์ร้าย ต่าง ๆ ได้เป็นอันขาด
เมื่อเทพบุตรทั้งสามรับเทวราชปกาสิตของเทพเจ้าเหล่าที่ประชุมอยู่ในสถาน ที่นั้นแล้ว ก็กระทำตามคำสั่งสอนทุกประการ ฝ่ายพระเยาวมาลย์มาศมัทรีพระนางเธอมีพระหฤทัยไหวหวาดด้วยทรงคำนึงความฝัน แล้วทรงรีบขมีขมันแสวงหามูลผลาหาร แต่บังเอิญเสียมที่พระนางเธอถือก็หลุดจากพระหัตถ์ กระเช้าก็จะพลัดตกลงจากพระอังสา ทั้งพระเนตรเบื้องขวาก็เขม่นอยู่ริก ๆ ต้นไม้ที่พระนางเคยปลิดผลก็เผอิญไม่แลเห็น ท้องฟ้าอากาศก็เป็นประหนึ่งว่ามืดมิดไปทั่วทุกทิศ พระนางเธอก็ทรงหลากจิตว่าเหตุไรหนอจึงเป็นอย่างนี้ ชะรอยจะมีเหตุอันใดอันหนึ่งแก่ตัวเราหรือไม่ก็พระเจ้าลูกทั้งสอง มิฉะนั้นก็พระสวามีเวสสันดรอย่างใดอย่างหนึ่ง
         ครั้นทรงคำนึงอย่างนี้แล้วจึงบ่ายหน้าเสด็จกลับแต่ได้มาพบมฤคราชร้ายทั้ง สามที่นอนขวางทางพระนางอยู่ พอนางเสด็จจวนถึง มฤคราชทั้งสามนั้นก็พร้อมกันลุกขึ้นยืนสกัดขวางทางพระนางไว้พระนางเธอจึงทรง พิไรรำพันว่า เวลาพระอาทิตย์ก็จวนจะตกต่ำอยู่แล้วทั้งพระอาศรมก็ยังอยู่ไกล พระเจ้าลูกทั้งสองกับพระสวามีคงจะคอยเสวยมูลผลาหารที่เราจะนำไป ป่านนี้พระจอมไทขัตติยาเบศร์คงจักปลอบพระราชโอรสธิดาผู้หิวโหยอยู่ใน บรรณศาลาตั้งหน้าทอดพระเนตรคอยเป็นแน่แท้ พระลูกรักทั้งสองของเราก็จักพากันทรงกันแสงด้วยถึงเวลาเสวยแล้ว พระลูกแก้วกัณหาก็คงหิว   พระถันธารา หรือไม่อย่างนั้น พระเจ้าลูกทั้งสองก็คงจักมาคอยทางแม่เหมือนกับลูกโคอ่อนที่ชะแง้แลหาแม่โค หรือไม่อย่างนั้นพระลูกทั้งสองคงยืนคอยแม่อยู่แต่ในอาศรม เหมือนกับหงส์ที่ตกอยู่บนเปือกตมฉะนั้น อันหนทางก็ยังอยู่ไกล ทั้งเป็นหนทางน้อยเดินได้แต่ผู้เดียว เราไม่อาจจะเลี้ยวลัดให้พญาสัตว์ทั้งสามนี้ได้ เพราะข้างหน้าหนึ่งก็มีสระ อีกข้างหนึ่งก็มีบึง เราจำเป็นจะอ้อนวอนพญาสัตว์ทั้งสามนี้ให้หลีกหนีจากหนทางเรา
ครั้นทรงพระดำริแล้วจึงปลดกระเช้าผลไม้ลงจากพระอังสาแล้วประคองอัญชลี ขึ้นอ้อนวอนว่า ข้าแต่พญามฤคราชผู้ทรงฤทธิรอน ขอท่านทั้งสามจงเห็นแก่ความอ้อนวอนของข้าพเจ้าผู้เป็นพระราชธิดาของมนุษย์ ส่วนท่านทั้งสามก็เป็นราชบุตรของพญามฤคราชเหมือนกัน ข้าพเจ้ากับท่านทั้งสามชื่อว่าเป็นพี่น้องกันโดยทางธรรม ข้าพเจ้าขอกราบไหว้ท่านทั้งสาม ท่านทั้งสามจงกรุณาหลีกหนทางให้ข้าพเจ้า อันข้าพเจ้านี้เป็นอัครมเหสีของพระราชโอรสกรุงสีพี ซึ่งถูกขับจากประเทศมาบวชเป็นชีไพร ข้าพเจ้านี้มิได้หมิ่นประมาทพระราชสามี จงรักภักดีต่อพระราชสามีอยู่เสมอเป็นเนืองนิตย์ ขอท่านทั้งสามจงนิมิตจิตหลีกหนทางให้แก่ข้าพเจ้าด้วย ช่วยให้ข้าพเจ้าได้กลับไปเห็นหน้าลูกรักทั้งสองศรี คือชาลีและกัณหา ท่านทั้งสามก็จงพากันแสวงหาอาหารตามต้องการเถิด อีกประการหนึ่ง ลูกไม้หัวมันที่ข้าพเจ้าได้มานี้มีอยู่มาก ข้าพเจ้าจะแบ่งให้ท่านทั้งสามเสียกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งจักนำไปฝากพระลูกรักและแลผัวขวัญ ขอท่านทั้งสามจงรีบด่วนให้หนทางแก่ข้าพเจ้า
เมื่อพระนางอ้อนวอนอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งเวลาพระอาทิตย์อัสดงคต พญามฤคราชทั้งสามนั้นจึงพากันละลดหลีกหนทางให้ ในคืนวันนั้นเป็นวันเพ็ญมีพระจันทร์เด่นเต็มดวง พระนางเธอก็ได้เสด็จล่วงมรรคามาจนกระทั่งถึงที่สุดจงกรม เมื่อได้ทรงพบเห็นพระเจ้าลูกทั้งสองในที่ ๆ เคยเห็นมา จึงตรัสว่าเราได้เคยเห็นพระเจ้าลูกทั้งสองพากันยืนคอยต้อนรับอยู่ที่นี้ พอเห็นแม่มาถึงก็พากันวิ่งเข้ารับ แต่วันนี้เหตุไรจึงกลับกลาย เราไม่พบเห็นพระเจ้าลูกทั้งสองเหมือนอย่างที่เคย แม่นี้มีอุปมาเหมือนแม่แพะหรือแม่เนื้อที่ละลูกน้อยไปเที่ยวหากิน หรือเหมือนกับปักษิณที่ทิ้งลูกน้อยไปจากรังหรือแม่ราชสีห์ที่พะว้าพะวัง อาหาร ละลูกน้อยไว้ในสถานของตนแล้วเที่ยวไปหากินฉะนั้น วันนี้แม่ได้เห็นแต่รอยเท้าของเจ้าทั้งสองกับกองทรายที่เจ้าทั้งสองเคยกอง เล่น วันอื่น ๆ แม่ได้เห็นเจ้าทั้งสองขะมุกขะมอมอยู่ด้วยฝุ่นและทราย พอเห็นแม่มาถึงก็พากันวิ่งรับรองข้าง มาวันนี้แม่รู้สึกอ้างว้างด้วยไม่เห็นหน้าเจ้าทั้งสอง วันก่อน ๆ เจ้าทั้งสองเคยคอยต้อนรับแม่ผู้กลับมาจากป่า เคยชะแง้แลหาแม่เหมือนกับลูกแพะหรือลูกเนื้อทราย อันมีความมุ่งหมายหาแม่ฉะนั้น     แต่วันนี้แม่มิได้เห็นหน้าเจ้าทั้งสองเหมือนแต่ก่อนเลย เห็นแต่ผลมะตูมสุกที่เจ้าทั้งสองเคยอุ้มเล่นมาตกกระเด็นอยู่ในที่นี้ โอ้ลูกรักของแม่เอ๋ย เวลานี้ถันทั้งสองเต้าของแม่ที่ลูกกัณหาเคยได้ดูดดื่มมาแต่ก่อนก็เต่งเต็ม ประดุจว่าจะแตก ใครเล่าเวลานี้จะมาค้นชายพกแม่เพื่อหาของเล่น และใครเล่าจะเข้าเหนี่ยวถันแม่เสวยนม โอ้ พระอาศรมนี้เมื่อก่อนปรากฏแก่เราเหมือนกับมีมหรสพครึกครื้น มาวันนี้ดูช่างเงียบเหงานี่กระไร เราได้ดูอาศรมแล้วประหนึ่งว่าอาศรมหมุนเวียนเหมือนกับแป้นแห่งนายช่างหม้อ โอ้ ไฉนหนอพระอาศรมนี้จึงมาเป็นเช่นนี้ ทั้งฝูงกาและสกุณาชาติทั้งหลายก็มิได้ส่งเสียงขันเหมือนวันก่อน หรือว่าลูกในอุทรของแม่ตายเสียแน่แล้วประการใด หรือว่ามีผู้ใดมานำเอาลูกแม่ไปเสียที่อื่น ลูกแม่จึงไม่เห็นปรากฏเหมือนกับในวันก่อน ๆ
เมื่อพระนางเธอทรงพิลาปรำพันอยู่ดังนี้แล้ว ก็เสด็จเข้าไปเฝ้าพระอดิศรสวามีเวสสันดรราชฤาษี ทรงวางกระเช้าผลไม้ลงแล้วถวายบังคม เมื่อได้เห็นสมเด็จพระเวสสันดรราชฤาษีเสด็จประทับนั่งนิ่งอยู่มิได้ทรงพาที ทั้งมิได้เห็นพระชาลีกัณหา จึงกราบทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เหตุไรพระองค์จึงทรงนิ่งอยู่เช่นนี้ ทำให้หัวใจของหม่อมฉันมัทรีนี้หวั่นหวาด ทั้งเมื่อเวลาจวนจะใกล้รุ่งวันนี้   หม่อมฉันมัทรีก็ฝันประหลาดอยู่แล้วพระเจ้าข้า ในเวลานี้ฝูงนกกาไพรและนกต่าง ๆ ก็มิได้ส่งเสียงขับร้อง หรือพระเจ้าลูกทั้งสองพี่น้องตายเสียแล้วประการใด ข้าแต่พระจอมไทธิราชเจ้า มีสัตว์ร้ายคาบเอาพระเจ้าลูกทั้งสองไปเคี้ยวกินเสียแล้วหรือไฉน หรือว่ามีใครนำเอาไปเสียในป่า หรือในทุ่งกว้างอันสุดที่จะแสวงหา หรือว่าพระองค์ให้พระเจ้าลูกทั้งสองให้เป็นทูตไปเฝ้าพระเจ้าสีพี หรือพระเจ้าลูกทั้งสองเข้าไปบรรทมอยู่ในอาศรมนี้ หรือว่าพระเจ้าลูกทั้งสองพากันออกไปเที่ยวเล่นในที่อื่น ขอพระองค์จงตรัสบอกแก่กระหม่อมฉันด้วยเถิด แม้แต่พระเกศาและพระหัตถ์พระบาทของพระเจ้าลูกทั้งสอง ก็มิได้ปรากฏในคลองจักษุของหม่อมฉันหรือนกหัสดีลิงค์จะโฉบเฉี่ยวพระลูกเจ้า ทั้งสองของกระหม่อมฉันไปแล้ว ขอพระองค์จงตรัสบอกแก่กระหม่อมฉันด้วยเถิด
เมื่อพระนางมัทรีทูลอ้อนวอนอยู่สักเท่าไรพระมหากษัตริย์เจ้าก็มิได้ตรัส ตอบ นางมัทรีจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระเวสสันดรเจ้า ทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ตรัสแก่กระหม่อมฉันนี้เป็นทุกข์อันยิ่งใหญ่กว่าทุกข์ ที่ถูกเนรเทศจากเมือง ยังมิหนำซ้ำทุกข์ไม่ได้เห็นหน้าพระเจ้าลูกทั้งสองอีก ขอพระองค์อย่าทรงทรมานกระหม่อมฉันให้ลำบากหัวใจเช่นนี้เลย หัวใจของกระหม่อมฉันเวลานี้เหมือนกับถูกไฟจี้ การที่พระองค์ทรงนิ่งอยู่อย่างนี้ทำให้กระหม่อมฉันลำบากหัวใจยิ่งนัก การที่พระองค์ทรงทำอย่างนี้เหมือนกับคนที่ตกต้นไม้แล้วมีผู้ตีซ้ำอีก หัวใจของกระหม่อมฉันเวลานี้รู้สึกชอกช้ำเหมือนกับถูกลูกศร หัวใจของกระหม่อมฉันเวลานี้เร่าร้อนยิ่งนักในการที่ไม่ได้เห็นพระลูกรักทั้ง สอง กระหม่อมฉันขอกราบทูลให้ทรงทราบว่า ถ้ากระหม่อมฉันไม่ได้เห็นหน้าลูกในคืนนี้ หรือพระองค์ไม่ตรัสกับหม่อมฉันในคืนนี้แล้ว เช้าขึ้นพระองค์ก็จะเห็นซากศพของกระหม่อมฉันแน่
พระมหากษัตริย์เจ้าจึงทรงพระดำริว่าจำเราจักห้ามความโศกพระนางด้วยความ หึงหวงจึงจะได้ ครั้นทรงพระดำริแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนมัทรีผู้มีรูปสวย อันในป่าหิมพานต์นี้ย่อมมีนายพรานและดาบสหรือวิทยาธรเป็นอันมาก หากเจ้าไปทำอะไรในป่าก็ไม่มีใครจะรู้เห็น เจ้าออกป่าแต่เช้าเป็นอย่างไรจึงกลับมาจนค่ำมืดเช่นนี้ นี่แน่ะแม่มัทรี ธรรมดาหญิงที่ทิ้งลูกหนีไปในป่าเขาจะมีสามีหรือไม่มีก็ตามเขาไม่ทำอย่างนี้ ตัวเจ้าเหตุไรจึงทำเป็นไม่มีห่วงลูกห่วงผัวบ้างเลย ที่ถูกเข้าควรจะนึกถึงลูกบ้างไม่นึกถึงผัวก็ช่างเถิด แต่นี่สิเข้าป่าแต่เช้าจนกระทั่งกลางคืนจึงกลับมา ยากที่เราจะเข้าใจว่าเจ้าไปทำอะไร เมื่อเจ้ามีข้อแก้ไขอย่างไรจงว่ามาอย่าได้ช้า
เมื่อพระนางมัทรีได้ทรงสดับพระวาจาอันเสียดแทงพระหฤทัยเช่นนี้ จึงกราบทูลว่า พระองค์ไม่ได้ยินเสียงราชสีห์เสือโคร่ง สัตว์สี่เท้าสองเท้าและนกอันบันลือร้องในตอนเย็นนี้บ้างหรือ นั่นแหละคืออันตรายที่ทำให้กระหม่อมฉันกลับมาแต่ยังวันไม่ได้ ในเวลาที่กระหม่อมฉันไปแสวงหาลูกไม้หัวมันนั้นเกิดรางร้ายขึ้นหลายประการ คือเสียมก็หลุดมือ กระเช้าก็หลุดจากบ่า และในป่านั้นกระหม่อมฉันรู้สึกหวาดกลัวจนตัวสั่นขวัญหาย ได้ไหว้วอนเทพเจ้าทั้งหลายให้ช่วยคุ้มครองพระองค์กับพระเจ้าลูกที่อยู่ข้าง หลัง แล้วกระหม่อมฉันได้นึกถึงความฝันร้ายในคืนนี้จึงตั้งใจจะกลับมาเร็ว ในกาลนั้นตาของกระหม่อมฉันก็เขม่นอยู่ริก ๆ ทั้งรู้สึกพร่าพราวแลเห็นต้นไม้แปลกไปกว่าแต่ก่อน คือต้นไม้ที่เคยผลิผลก็แลเห็นเป็นไม่มีผล ส่วนต้นไม้ที่ไม่มีผลสิกลับแลเห็นเป็นมีผล กระหม่อมฉันจึงเที่ยวหาผลไม้ได้โดยลำบากนัก พอแสวงหาได้แล้วก็รีบกลับมา ครั้นมาถึงช่องเขาก็มีสัตว์ร้ายสามตัว คือราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง มานอนขวางทางกระหม่อมฉันอยู่ กระหม่อมฉันไม่รู้ที่จะหลีกไปทางไหน ได้กราบไหว้อ้อนวอนต่อสัตว์ทั้งสามอยู่จนกระทั่งพลบค่ำสัตว์ร้ายทั้งสามนั้น จึงหลีกทางให้กระหม่อมฉัน กระหม่อมฉันได้รีบเดินเป็นวิ่งมาจนกระทั่งถึงอาศรมศาลาที่นี้ เหตุที่กระหม่อมฉันไปเช้ากลับมาถึงในเวลากลางคืนอยู่อย่างนี้แหละพระเจ้าข้า ฯ ส่วนพระมหากษัตริย์เจ้าเมื่อพระนางมัทรีกราบทูลชี้แจงอย่างนี้แล้วก็มิได้ ตรัสตอบประการใด ทรงนิ่งอยู่จนตลอดราตรี
ฝ่ายพระนางมัทรีก็ได้แต่ทรงโศกร่ำร้องปรับทุกข์ไปตามประสาหญิงด้วยถ้อยคำ ต่าง ๆ ว่าตัวเราไม่เคยประมาทต่อพระราชสามีเลย ได้ตั้งใจปฏิบัติพระราชสามีเป็นอย่างดีเหมือนศิษย์ปฏิบัติอาจารย์ ได้เที่ยวแสวงหามูลผลาหารในป่ามาเลี้ยงพระสามีแลพระลูกรักทั้งสองทุกวันมา โอ้พระลูกเอ๋ย นี่แน่ะขมิ้นแม่บดไว้สำหรับใช้เวลาเจ้าทั้งสองอาบน้ำ โอ้นี้สิผลมะตูมสุกที่เจ้าทั้งสองเคยเล่น นี่ก็เง่าบัวฝักบัวที่แม่หามาไว้ นี่ก็ลูกกระจับอันมีรสหวานเหมือนน้ำผึ้ง ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นที่พึ่งของกระหม่อมฉัน ขอพระองค์ได้โปรดเรียกพระลูกทั้งสองมาเสวยลูกไม้หัวมันเถิด ขอพระองค์จงประทานดอกไม้ประทุกแก่พ่อชาลีประทานดอกโกมุทแก่แม่กัณหา ให้พระเจ้าลูกทั้งสองประดับประดาแล้วฟ้อนรำให้ทอดพระเนตร ขอพระปิ่นเกษจงเรียกพระเจ้าลูกทั้งสองให้ตื่นจากบรรทมเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าพลโยธี เราทั้งสองก็ย่อมมีสุขทุกข์เสมอกันได้ถูกขับจากพระนครมาด้วยกัน สมควรที่พระองค์จะทรงพระกรุณาแก่กระหม่อมฉันบ้างอย่าทรงให้กระหม่อมฉันลำบาก ใจนักเลยพระเจ้าข้า หรือว่าข้ามัทรีมีบาปกรรมได้กระทำมา ได้เคยด่าว่าสมณพราหมณ์ว่าขอให้ท่านพลัดพรากจากบุตรธิดาไว้ในปางก่อนหรือ อย่างไร วันนี้กระหม่อมฉันถึงพลัดพรากจากพระลูกรักทั้งสอง
เมื่อพระนางเธอไม่ได้รับคำตอบจากพระราชสามีอย่างนี้แล้ว ก็ถวายบังคมลาออกเที่ยวเสาะแสวงหาพระลูกเจ้าทั้งสองในที่ต่าง ๆ เมื่อพระนางเจ้าไปถึงต้นไม้ที่พระเจ้าลูกทั้งสองเคยเล่นอยู่แต่ก่อนมา พระนางเจ้าก็ทรงปริเทวนารำพันเพ้อต่าง ๆ จนกระทั่งหมู่เนื้อและนกได้ตกใจกลัวด้วยเสียงฝีพระบาทและเสียงร่ำร้องของพระ นางเธอ เมื่อพระนางเธอได้ทอดพระเนตรเห็นของเล่น คือตุ๊กตารูปเนื้อทรายตัวเล็ก ๆ รูปกระต่าย รูปนกเค้า รูปชะมด รูปหงส์ รูปนกกะเรียน รูปนกยูง ซึ่งพระลูกทั้งสองได้เคยเล่นมาในกาลก่อน พระนางเจ้าก็ยิ่งทรงสะท้านอาวรณ์ถึงซึ่งพระเจ้าลูกทั้งสอง
แล้วพระนางเจ้าจึงวิ่งกลับไปที่พระอาศรมแล้วกลับออกมาจากพระอาศรมไป เที่ยวแสวงหาตามนานาสถาน มีสระโบกขรณีเป็นต้น แล้วกลับมากราบทูลพระมหาสัตว์อีก เมื่อทรงเห็นพระมหาสัตว์ประทับนิ่งอยู่อีกเหมือนแต่ก่อน จึงกราบทูลตัดพ้อต่อว่า ว่าเหตุไรพระองค์จึงไม่ทรงตักน้ำ ผ่าฟืน ก่อไฟไว้เหมือนวันก่อน ๆ มาทรงนั่งนิ่งอยู่เหมือนอย่างนี้ทำไม ข้าแต่พระเวสสันดรเจ้าผู้เป็นที่รักของกระหม่อมฉันอย่างยิ่ง ไม่มีผู้ใดจะเป็นที่รักของกระหม่อมฉันยิ่งไปกว่าพระองค์เลย วันก่อน ๆ เวลากระหม่อมฉันกลับมาเห็นพระพักตร์ของพระองค์แล้วก็หายเหน็ดเหนื่อยทุกข์ แต่วันนี้กระหม่อมฉันยิ่งทุกข์ร้อนขึ้นอีก ในการที่พระองค์ไม่ทรงจำนรรจากับกระหม่อมฉัน ทั้งไม่ได้เห็นหน้าของพระลูกเจ้าทั้งสอง เมื่อพระนางเธอเห็นพระมหาสัตว์เจ้าทรงนิ่งอยู่ ก็ทรงโศกเศร้าเป็นกำลังดังประหนึ่งว่ามีลูกศรมาเสียบทรวง มีพระกายสะทกสะท้านปานแม่ไก่ถูกตี ได้ถวายอัญชลีแล้วออกเที่ยวตามหาพระลูกเจ้าทั้งสองอีก
เมื่อไม่ทรงพบเห็นในที่ใด ๆ จึงกลับมาทูลอ้อนวอนถามพระมหาสัตว์เจ้าอีก ฝ่ายพระมหาสัตว์เจ้าก็ไม่ตรัสประการใด พระนางเธอได้เที่ยวแสวงหาพระเจ้าลูกทั้งสองวกไปเวียนมารอบขอบเขตพระบรรณศาลา อยู่ตลอดราตรี ถ้าจะคลี่คลายหนทางทรงออกไปก็ได้ถึง ๑๕ โยชน์โดยคณา พอสิ้นราตรีแล้วพระนางเจ้าก็กลับไปเฝ้าพระมหาสัตว์เจ้าอีก ทรงร้องไห้รำพันด้วยประการต่าง ๆ แล้วทรงยกย่องพระบาทว่าจะออกเที่ยวแสวงหาอีก แต่พอดีพระนางเจ้าได้สิ้นพระสติสัมปฤดีล้มสลบลงที่พื้นพสุธาต่อหน้าพระที่ นั่งของพระเวสสันดรราชฤๅษี
ในขณะนั้นพระเวสสันดรราชฤๅษีทรงตกพระทัยว่า พระมัทรีสิ้นพระชนม์ชีพแล้วทรงตระหนกตกประหม่า จนมีพระกายสั่นสะท้านด้วยความโศกศัลย์อันแรงกล้า ออกพระโอษฐ์ว่า เจ้ามัทรีไม่ควรจะมาตายในที่เช่นนี้เลย ถ้าเจ้าตายอยู่ในกรุงสีพีก็จะได้มีการถวายเพลิงเป็นการใหญ่ ประชาชนและกษัตริย์ทั้งสองประเทศก็จะได้ถวายสักการะพิเศษพระศพของเจ้า ครั้นออกพระโอษฐ์อย่างนี้แล้ว จึงรีบเสด็จจากพระบรรณศาลา เพื่อทรงตรวจดูว่าพระนางสิ้นพระชนม์แล้วจริงหรือ เมื่อทรงวางพระหัตถ์เบื้องขวาลงที่พระทรวงของพระนาง ก็ทรงทราบว่าพระนางยังทรงพระชนม์อยู่เพระพระทรวงยังอุ่นอยู่ จึงรีบไปหยิบเอา
พระเต้าลงมาช้อนพระเศียรของพระนางขึ้นวางบนพระเพลา เทน้ำออกจากพระเต้ารดตัวพระนางให้เปียกชุ่ม แล้วทรงวักน้ำลูบพระพักตร์และทรวงของพระนาง ฝ่ายพระนางมัทรีก็ทรงได้สติสมปฤดีขึ้นมา แล้วเคลื่อนพระองค์ลงจากพระเพลาขึ้นถวายบังคมทูลถามว่า พระเจ้าลูกทั้งสองอยู่ที่ไหนพระเจ้าข้า
ก็แลนับแต่พระเวสสันดรได้ทรงบรรพชามาถึง ๗ เดือนแล้ว ยังไม่เคยแตะต้องพระกายของพระนางเลย เพิ่งได้มาแตะต้องในคราวนี้ด้วยความเศร้าโศกอันแรงกล้าเท่านั้น ครั้นพระนางมัทรีทูลถามถึงพระลูกทั้งสอง จึงตรัสตอบว่า ดูก่อนมัทรี พระเจ้าลูกทั้งสองนั้นเราได้ให้แก่พราหมณ์ชราไปเสียแต่วานนี้แล้ว ขอเจ้าจงทรงผ่องแผ้วอนุโมทนาต่อทานบารมีของเราเถิด พระนางมัทรีกราบทูลว่า เหตุไรพระองค์จึงไม่ตรัสบอกกระหม่อมฉันเสียในเวลาคืนนี้เล่า ดูก่อนมัทรี เพราะเราเห็นว่าถ้าเราจะบอกแต่เดิมทีก็กลัวเจ้าจะหัวใจแตกตายด้วยความเสียใจ เพราะฉะนั้น ขอเจ้าอนุโมทนาในเวลานี้เถิด
พระนางมัทรีจึงกราบอนุโมทนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ กระหม่อมฉันขออนุโมทนาปุตตทานอันอุดมของพระองค์ ขอพระองค์จงทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใส ให้พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญทานบารมียิ่ง ๆ ขึ้นไปเถิด เมื่อคนทั้งหลายตกอยู่ในอำนาจของความตระหนี่เหนี่ยวแน่น พระองค์ผู้ทำแว่นแคว้นสีพีให้เจริญได้ทรงพระราชทานซึ่งพระเจ้าลูกทั้งสองให้ เป็นทานแก่พราหมณาจารย์แล้ว จัดว่าเป็นทานอันประเสริฐของพระองค์ ฯ ลำดับนั้นพระเวสสันดรจึงตรัสว่า ดูก่อนมัทรี ถ้าเราไม่มีใจเลื่อมใสยินดีแล้ว อัศจรรย์ต่าง ๆ ก็ไม่เกิดมี คือแผ่นดินไหว ฟ้าก็ร้อง ภูเขาก็สะท้านเหมือนกับจะถล่มเป็นที่น่าอัศจรรย์
พระคันถรจนาจารย์จึงสังวรรณนาการไว้ว่าอัศจรรย์ต่าง ๆ นั้นคือเทพเจ้าทั้งสองหมู่ที่สิงอยู่ในนารทบรรพต ก็ได้อนุโมทนาต่อปุตตทานของพระเวสสันดรอยู่ที่ประตูวิมานแห่งตน ๆ มิใช่แต่เท่านั้น พระอินทร์ พระพรหม ท้าวปชาบดี พระจันทรเทพบุตร พระยม ท้าวเวสสุวัณ เทพเจ้าแห่งดาวดึงส์ มีพระอินทร์เป็นหัวหน้า และเทพเจ้าทุกราศีก็มีใจยินดีอนุโมทนาต่อปุตตทานของพระเวสสันดรขึ้นพร้อมกัน ว่า ข้าแต่พระเวสสันดรเจ้า ทานที่พระองค์ทรงบำเพ็ญนี้เป็นทานอันอุดม เป็นอันพระองค์ทรงบำเพ็ญแล้วเป็นอย่างดี ฝ่ายพระนางมัทรีผู้เป็นพระราชบุตรีมียศก็เปล่งสุนทรอนุโมทนาต่อปุตตทานอัน อุดมของพระเวสสันดรบรมราชสวามี