วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557

ลักษณะสำคัญของภาษาไทย



ลักษณะสำคัญของภาษาไทย
          ภาษาไทยมีวิวัฒนาการมาตามลำดับ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโดยพระโหราธิบดี ได้แต่งตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรก ชื่อ จินดามณี ขึ้น ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงธรรมการได้พิมพ์ตำราสยามไวยากรณ์เป็นแบบเรียน และเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีได้เรียบเรียงขึ้นใหม่โดยย่อจากตำราสยามไวยากรณ์ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๑ พระยาอุปกิตศิลปะสาร ได้ใช้เค้าโครงของตำราสยามไวยากรณ์แต่งตำราหลักภาษาไทยขึ้นใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นตำราหลักภาษาไทยที่สมบูรณ์และเป็นแบบฉบับหลักภาษาไทยที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน ลักษณะที่สำคัญของภาษาไทย มีดังนี้
          ๑. ภาษาไทยเป็นคำโดด คือ คำไทยแต่ละคำมีความหมายสมบูรณ์ในตัวเองและใช้ได้อย่างอิสระโดยไม่มีการเปลี่ยนรูปศัพท์ เช่น พ่อ แม่ สูง ต่ำ เป็นต้น
          ๒. คำไทยแท้ส่วนมากมีพยางค์เดียว คือ เป็นคำที่มีความหมายเข้าใจได้ทันที เช่น โอ่ง ไห ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น ส่วนคำไทยแท้ที่มีหลายพยางค์มีสาเหตุมาจาก
                   ๒.๑ การปรับปรุงศัพท์ด้วยการลงอุปสรรคแบบไทย คือ การเพิ่มเสียงหน้าศัพท์ เช่น
                             ชิด       —-       ประชิด
                             ทำ       
—-       กระทำ
                             ลูกดุม  
—-       ลูกกระดุม
                   ๒.๒ การกลายเสียง เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของภาษา เช่น เสียงกร่อน
                             หมากม่วง          —-        มะม่วง
                             หมากพร้าว      
—-        มะพร้าว
                             สายเอว            
—-        สะเอว
                             ต้นไคร้             
—-        ตะไคร้
          ๓. คำไทยแท้มีตัวสะกดตรงตามมาตรา เช่น คำที่เกี่ยวกับการต่อสู้ ได้แก่
                             แม่กก  —-       ชก ศอก กระแทก โขก ผลัก
                             แม่กด 
—-       กัด ฟัด รัด อัด กอด ฟาด อัด
                             แม่กบ 
—-       ตบ ทุบ งับ บีบ จับ กระทืบ ถีบ
                             แม่กง  
—-       ถอง พุ่ง ดึง เหวี่ยง ทึ้ง
                             แม่กน 
—-       ชน ยัน โยน ดัน
                             แม่กม 
—-       โถม ทิ่ม รุม ทุ่ม
                             แม่เกย
—-       เสย ต่อย
                             แม่เกอว
—-     เหนี่ยว น้าว
          ๔. ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีเสียงวรรณยุกต์ ซึ่งวรรณยุกต์นี้จะทำให้คำมีระดับเสียงและความหมายต่างกัน เช่น
                             คา ค่า ค้า                     เขา เข่า เข้า
                             นำ น่ำ  น้ำ                    เสือ เสื่อ เสื้อ
          ๕. ภาษาไทยมีการสร้างคำเพื่อเพิ่มความหมายให้มากขึ้น การเพิ่มคำในภาษาไทยมีหลายลักษณะ เช่น การประสมคำ คำซ้อน คำซ้ำ คำสมาส คำสนธิ ศัพท์บัญญัติ คำแผลง เป็นต้น
          ๖. การเรียงคำในประโยค การเรียงคำในประโยคของภาษาไทยนั้นสำคัญมาก เพราะถ้าเรียงคำในประโยคสลับกันจะทำให้ความหมายเปลี่ยนไป เช่น
                             พ่อให้เงินผมใช้
                             พ่อให้ใช้เงินผม
                             พ่อให้ผมใช้เงิน
          ๗. คำขยายในภาษาไทยมักจะเรียงอยู่หลังคำที่ถูกขยาย เช่น
                             แม่ไก่สีแดง
                             เรือลำใหญ่แล่นช้า
          ๘. คำไทยมีคำลักษณนาม มีหลักการใช้ดังนี้
                   ๘.๑ ใช้ตามหลังคำวิเศษณ์บอกจำนวนนับที่เป็นตัวเลข เช่น
                                        นักเรียน ๑๐ คน
                                        แมว ๒ ตัว
                   ๘.๒ ใช้ตามหลังคำนามเพื่อบอกลักษณะคำนามที่อยู่ข้างหน้า เช่น
                                        หนังสือเล่มนั้นใครซื้อให้
                                        นกฝูงนี้มาจากไซบีเรีย
          ยกเว้น การใช้ว่า เดียวแทนจำนวนนับ ๑ หน่วย ซึ่งจะอยู่หลังลักษณนาม เช่น
                                       ฉันเลี้ยงแมวไว้ตัวเดียว
                                       เขากินข้าวจานเดียว
          ๙. ภาษาไทยมีวรรคตอนในการเขียนและการพูด เพื่อกำหนดความหมายที่ต้องการสื่อสาร หากแบ่งวรรคตอนการเขียนผิดหรือพูดเว้นจังหวะผิด ความหมายก็จะเปลี่ยนไป เช่น
                                       อาหาร อร่อยหมดทุกอย่าง
                                       อาหารอร่อย หมดทุกอย่าง
          ๑๐. ภาษาไทยมีระดับการใช้ ระดับของภาษาแบ่งได้ดังนี้
                   ๑๐.๑ ระดับพิธีการ                  ใช้ในพิธีการสำคัญต่างๆ
                   ๑๐.๒ ระดับทางการ                 ใช้ในโอกาสที่เป็นทางการ (ภาษาทางการ)
                   ๑๐.๓ ระดับกึ่งทางการ               ใช้ในโอกาสที่ไม่เป็นทางการ แต่ลดระดับโดยการใช้ภาษาสุภาพและเป็นกันเองมากขึ้น
                   ๑๐.๔ ระดับสนทนา                  ใช้ในโอกาสที่ไม่เป็นทางการ เช่น การพูดคุยทั่วไป
          ๑๐.๕ ระดับกันเอง                             ใช้ในโอกาสที่ไม่เป็นทางการกับเพื่อนสนิท สามารถใช้ภาษาพูดหรือภาษาคะนอง

วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557

เทคนิคการพูดโน้มน้าวใจ

การพูดโน้มน้าวใจ และตัวอย่างการพูดโน้มน้าวใจ
                การพูดโน้มน้าวใจนั้น  เป็นศาสตร์และศิลป์ทางจิตวิทยา ที่สามารถเปลี่ยนความเชื่อและทัศนคติของผู้ฟัง  ให้เกิดการคล้อยตาม คิดตาม และปฏิบัติตามในที่สุด  อาจจะมากจนถึงขึ้นฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกเลยก็ได้ เช่น การพูดโน้มน้าวใจให้พนักงานรักษาความสะอาดของสถานที่ทำงานให้ดีที่สุด  การพูดโน้มน้าวใจให้เด็กนักเรียนติดนิสัยการทิ้งขยะลงถัง เป็นต้น  ซึ่งจิตสำนึกเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดี และได้รับการปลูกฝังมาเป็นอย่างดีจากผู้บังคับบัญชา หรือผู้อบรมสั่งสอนนั่นเอง
เทคนิคการพูดโน้มน้าวใจอย่างได้ผล
 พูดให้ผู้ฟังเห็นภาพและมีเหตุผลที่หนักแน่น
การที่คนเราจะเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น  จะต้องมีความสมเหตุสมผล  เมื่อผู้ฟังได้ชั่งใจและติดสินใจแล้ว  ก็จะเกิดเป็นความเชื่อขึ้นมา ดังนั้นผู้ที่เป็นฝ่ายพูดโน้มน้าวจิตใจนั้น  ต้องหาเหตุผลมาประกอบให้หนักแน่นที่สุด  เพื่อจะให้เกิดการคล้อยตามและความเชื่อขึ้นมาในคนหมู่มากได้
 มีการกำหนดจุดมุ่งหมายในการพูดอย่างชัดเจน
ผู้พูดจะต้องมีจุดมุ่งหมายของตัวเองอย่างชัดเจน  ว่าเมื่อคุณพูดไปแล้ว  จะเกิดผลหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อผู้ฟังบ้าง  เพื่อให้บรรลุผลตามที่ผู้พูดต้องการ  ไม่ควรพูดแบบน้ำท่วมทุ่ง จับใจความไม่ได้  เพราะเมื่อจุดมุ่งหมายออกทะเลไปไกล  จะทำให้ผู้ฟังเกิดความเบื่อขึ้นมาได้  ดังนั้นควรพูดอย่างมีเนื้อหาสาระที่เป็นจุดประสงค์ของเรา
 กระตุ้นให้เกิดอารมณ์และความคิดเห็นที่คล้อยตามกันไป
การที่คนหมู่มากมีความคิด  เหตุผลในการตัดสินใจ  และมีอารมณ์ร่วมกัน  ก็จะทำให้เกิดพฤติกรรมในทางปฏิบัติร่วมกัน  เมื่อความคิดของคนหมู่มากได้เกิดขึ้นมาแล้ว  จะส่งผลให้คนกลุ่มที่ยังลังเล  หรือมีความเพิกเฉย  ได้คล้อยตามไปกับหมู่คณะ  ซึ่งการกระตุ้นเพื่อทำให้เกิดอารมณ์ร่วมกันนี้  อาจใช้ปัจจัยหลายอย่าง และเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน  ตัวอย่างเช่น  การที่เราจะให้เด็กนักเรียนรักษาความสะอาดของโรงเรียน  ก็ต้องแบ่งกลุ่มให้เด็กทำความสะอาดตามจุดต่างๆ และมีของรางวัลสำหรับกลุ่มที่รักษาความสะอาดได้ดีที่สุด  และของรางวัลก็จะต้องมีการแบ่งเฉลี่ยให้ได้รับเท่ากันทุกคน  เด็กๆ ก็จะเกิดนิสัยรักษาความสะอาดฝังลึกเข้าไปในจิตใต้สำนึก  และยังกระตุ้นให้เพื่อนรอบข้างได้ปฏิบัติตามอีกด้วย
 ผู้พูดต้องจัดลำดับเนื้อหาในการพูดให้ดี
ในการพูดโน้มน้าวใจนั้น  จะต้องมีประโยคที่เกิด Action หรือดึงดูดความสนใจจากผู้ฟังได้  และประโยคเหล่านั้นก็จะต้องสอดคล้องกับเนื้อหาที่เราจะพูดด้วย  ตัวอย่างเช่น ท่านผู้มีเกียรติครับ  หนทางไกลหมื่นลี้ ย่อมต้องเริ่มที่ก้าวแรกเสมอ  แล้ววันนี้ถ้าเราจะคิดเริ่มต้นสิ่งใด  คุณยังจะลังเลอีกหรือ ? ในเมื่อโอกาสมันได้มาอยู่ตรงหน้าคุณแล้วตรงนี้นี่คือการเกริ่นให้เกิดความสนใจขึ้นมาได้  และต่อไปก็คือเนื้อหาสาระที่ต้องการจะพูดสื่อสารออกไป  ควรจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้ฟัง เพราะจะทำให้เกิดการมโนภาพขึ้นมาได้ง่ายขึ้น  และเมื่อเรื่องเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตประจำวันของคนหมู่มาก  ย่อมเกิดการคิดตามและความเชื่อมั่นในระดับหมู่ขึ้นมาอย่างแน่นอน  หากพูดเนื้อหาตามจุดประสงค์ของเราแล้ว  ตอนบทสรุปถ้าเป็นไปได้ให้ทิ้งประโยคหรือข้อคิดคำคม  ที่ผู้ฟังสามารถนำกลับไปคิดต่อได้ จะเป็นผลดีมากๆ เลยค่ะ
บุคลิกและความคล่องแคล่วในการพูด
ผู้พูดโน้มน้าวใจจะต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะพูดอย่างลึกซึ้ง  เพื่อสามารถตอบปัญหาคาใจให้กับผู้ฟังได้อย่างคล่องแคล่ว  ดูแล้วมีความเป็นมืออาชีพ  สามารถเชื่อถือได้ เท่านี้ก็จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฟังของเราได้แล้วหล่ะค่ะ
 อย่าพูดถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตาม
ในกรณีนี้  เราไม่ได้หมายถึงการโกหกหลอกลวงผู้ฟังนะค่ะ  แต่เป็นการหลีกเลี่ยงคำพูดหรือเนื้อหาที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดความคิดในเชิงลบ  เพราะคุณจะไม่สามารถโน้มน้าวจิตใจผู้ฟังได้เลย  ควรพูดสิ่งที่ดีให้มาก  เพื่อสร้างความคิดในมุมบวกให้เกิดขึ้นกับผู้ฟังนั่นเอง
พูดถึงผลประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับ
เป็นธรรมดาที่คนเรามักจะรักในผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ  ดังนั้นการพูดอย่างหนักแน่น มีเหตุมีผลแล้ว  หากผลที่ผู้รับจะได้นั้นมีความเป็นรูปธรรม หรือสิ่งของที่จับต้องได้ด้วยแล้ว  จะทำให้เกิดการโน้มน้าวใจได้ง่าย  และอาจเกิดการบอกต่อได้อีกด้วย  เช่นหากคุณผู้ฟังซื้อเครื่องปริ้นเตอร์ยี่ห้อนี้  คุณจะได้รับของแถมเป็นกระดาษ 1 กล่อง และเติมหมึกให้ฟรี 1 ชุด เท่ากับว่าเมื่อคุณรับปริ้นงานจนหมึกและกระดาษหมด  รายได้จะมากกว่าราคาซื้อเครื่องปริ้นเสียอีก  เท่ากับว่าคุณได้เครื่องปริ้นไปฟรีๆ เป็นต้น  ซึ่งในกรณีนี้  ผู้พูดจะเป็นผู้ขายหมึกและกระดาษให้กับเจ้าของเครื่องปริ้น  เป็นการวางตลาดระยะยาวนั่นเอง
  สร้างบรรยากาศในการพูดให้ผ่อนคลายบ้าง
การที่เราจะพูดแต่เนื้อๆ เน้นๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป  จะทำให้ผู้ฟังเกิดอาการเบื่อ  ความสนใจจะลดลง  สุดท้ายทั้งผู้พูดและผู้ฟังจะไม่ได้อะไรเลย เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์  ดังนั้นระหว่างที่พูดก็ควรจะแทรกอารมณ์ขันเข้าไปกับเนื้อหาที่พูดด้วย  ผู้ฟังจะได้หัวเราะ ผ่อนคลาย และเกิดความเป็นกันเองมากขึ้น  ไม่ต้องอยู่ภายใต้ภาวะกดดัน เหมือนโดนบังคับให้มาฟัง
                ทั้งหมดทั้งมวลนี้  คือวิธีการพูดโน้มน้าวใจคน  เพื่อให้ผู้ที่สนใจหรือต้องการศึกษาเรียนรู้  ได้ลองนำไปปฏิบัติ และปรับปรุงการพูดโน้มน้าวใจของคุณให้ดีขึ้น  จะได้เป็นบุคลากรที่สามารถดึงดูดลูกค้าเข้ามาสู่องค์กรได้มากๆ ยังไงหล่ะ  สำหรับบทความเกี่ยวกับการพูดโน้มน้าวใจคนและตัวอย่างการพูดโน้มน้าวใจคนก็มีประมาณนี้  ขอให้คุณผู้อ่านได้รับประโยชน์กันมากที่สุดนะค่ะ